พระราชนิพนธ์เรื่อง\"ไกลบ้าน\"
พระราชนิพนธ์ “เรื่องไกลบ้าน” เป็นพระราชนิพนธ์ลายพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งหลังเมื่อปีมะแม รัตนโกสินทร์ศก 126 (พุทธศักราช 2450) พระราชทานแด่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล หรือ สมเด็จหญิงน้อย
ผู้ซึ่งสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถในตำแหน่งราชเลขาธิการ ฝายใน เป็นจำนวน 43 ฉบับ รวมระยะเวลาที่เสด็จประพาสทั้งสิ้น 225 คืน เริ่มตั้งแต่เสด็จฯ
ลงเรือพระที่นั่งมหาจักรีออกจากรุงเทพฯ ผ่านสถานที่ต่าง ๆ
ของแต่ละประเทศตามเส้นทางที่กำหนดไว้ในการเสด็จประพาส ณ ทวีปยุโรป
โดยทรงเรือและรถไฟตามลำดับ อาทิเช่น ประเทศสิงคโปร์, อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมันนี, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, และนอร์เวย์
เป็นต้น บทพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน เป็นเรื่องราวที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์
เกี่ยวกับพระราชภารกิจแต่ละวัน
และเหตุการณ์หรือสิ่งซึ่งพระองค์ได้ทอดพระเนตรในการเสด็จพระประพาสยุโรปครั้งหลัง
ด้วยลักษณะการบันทึกจดหมายเหตุหรือรายงานประจำวันทำให้ผู้อ่านได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่
พระพลานามัย ตลอดจนทุกข์สุขส่วนพระองค์ นอกจากเกร็ดความรู้เรื่องราวต่าง ๆ
ที่ทรงพรรณาไว้พร้อมทั้งเสนอแนวทางพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ต่อเหตุการณ์ต่าง
ๆ
หรือส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งพระองค์ทรงประสบหรือได้ทอดพระเนตรในระหว่างการเสด็จประพาสครั้งนั้น
หากกล่าวโดยรวมแล้วพระราชหัตถเลขาที่ทรงพระราชนิพนธ์นี้
ทรงเล่าเรื่องส่วนพระองค์แทรกกับความรู้สึกนึกคิดตลอดจนแสดงอารมณ์ต่อเรื่องต่าง ๆ
ที่พระราชนิพนธ์
ซึ่งอาจเป็นเพราะการพระราชนิพนธ์พระราชหัตถเลขาเป็นวิธีการสื่อสารที่ค่อนข้างใหม่ในสมัยนั้น
และการได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกเกือบทั้งหมดเพราะก่อนหน้ารัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ไม่ปรากฏหลักฐานพระราชหัตถเลขาเช่นนี้เลย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกข้อมูลพระรายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของหนังสือเรื่องไกลบ้านไว้ใน “อธิบายตำนานหนังสือเรื่องไกลบ้าน” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2466 โดยพิมพ์ไว้ในส่วนต้นของหนังสือไกลบ้านที่จัดพิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2466 ว่าแม้เรื่องไกลบ้านจะเป็นลายพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล
แต่พระองค์ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บุคคลทั่วไปอ่านได้บ้างตามความเหมาะสม
ซึ่งเพียงลายพระราชหัตถเลขาไม่กี่ฉบับต่างก็แสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมีคุณค่าเหมาะสมที่จะเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่มหาชนสืบไป
ดังนั้น จึงได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระบรมราชานุญาตจัดพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่
ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำริชอบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้จัดพิมพ์ได้โดยให้ติดความที่ไม่สมควรเผยแพร่ออกบ้าง
และจะทรงตรวจคัดต้นฉบับให้สมบูรณ์เพื่อการจัดพิมพ์ต่อไปเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรปแล้วพร้อมทั้งโปรดเรียกชื่อลายพระราชหัตถเลขานี้ว่า “ไกลบ้าน” พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ได้จัดพิมพ์ขึ้นหลายคราวด้วยกัน
ดังนี้
ฉบับ พิมพ์ครั้งแรก
(ไม่ทราบจำนวนที่พิมพ์)
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2450 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติกลับพระนคร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้อำนวยการจัดพิมพ์เรื่อง "ไกลบ้าน"
เพื่อจำหน่าย ในงานไหว้พระประจำปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2450 ให้ทันการ
แต่ด้วยระยะเวลาไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องพิมพ์เป็นตอน ๆ
กำหนดให้พระราชหัตถเลขาฉบับที่ 1 เป็นตอนที่หนึ่ง
ซึ่งพิมพ์จำหน่ายได้เพียงบางตอนเท่านั้น
และได้พิมพ์สืบต่อไปตามลำดับจนครบจำนวนทั้งสิ้น 1,850 หน้ากระดาษ
รวมพิมพ์เป็นสมุดใหญ่ 4 เล่ม
ฉบับ พิมพ์ครั้งที่สอง
(ไม่ทราบจำนวนที่พิมพ์)
พุทธศักราช 2466 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้านิภานภดล ผู้ได้รับพระราชทานกรรมสิทธิ์เรื่องไกลบ้าน
มีพระประสงค์จัดพิมพ์หนังสือเรื่องไกลบ้านแจกเป็นมิตรพลี
เพื่อถวายสนองพระเดชพระคุณพระอรรคชายาเธอ
พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ พระชนนี ในงานฉลองพระชันษาครบ 60 ปี กุน
จึงทรงมีรับสั่งให้หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครจัดพิมพ์ถวาย
และทรงมอบให้สมเด็จพรเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำเนินการจัดพิมพ์อีกครั้งด้วยเหตุที่เคยทรงรับทราบกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างดี
การจัดพิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช 2466 เป็นการจัดพิมพ์ครั้งที่สอง รวมพิมพ์เป็น 2 เล่ม โดยขยายหน้ากระดาษเป็นขนาดสิบหกหน้ายกพิเศษ
ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้นกว่าครั้งแรกเป็นต้นว่า
มีสารบัญทั้งเรื่องและรูปเพิ่มเติม มีคำอธิบายหมายเลขประกอบนามบุคคล และเรื่องราวพระราชนิพนธ์บางแห่งให้ชัดเจน
มีรูปภาพประกอบเรื่องจำนวน 85 รูป
ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลังของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งพระองค์ทรงถ่ายเองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะมีลายปกซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้า
กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงเขียนประทานประกอบเล่ม
นอกจากนี้ยังได้ผนวกพิมพ์เรื่อง “จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพไว้อีก 1 เล่ม
รวมเป็นชุด ๆ ละ 3 เล่ม
ฉบับ
พิมพ์ครั้งที่สาม (ไม่ทราบจำนวนที่พิมพ์ และไม่มีรูปภาพประกอบ)
เมื่อปี พ.ศ. 2479 ไม่ทราบจำนวนพิมพ์ พิมพ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พร้อมด้วยพระอนุชา
ซึ่งทรงเป็นเจ้าภาพในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้านิภานภดลวิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เดือนมกราคม 2479 ด้วยทรงดำริว่า พระราชนิพนธ์ไกลบ้านนี้
เป็นลายพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานมาเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดลฯ
ในเวลาที่ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งพระราชเลขาธิการินี
อีกทั้งได้พระราชทานหนังสือนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่พระองค์สืบต่อมา
ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของบริษัทโอเดียนสโตร์
(มีรูปภาพพร้อมด้วยจดหมายเหตุประกอบ) และ (ไม่ทราบจำนวนที่พิมพ์)
เมื่อปีพ.ศ. 2496 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล
ประทานลิขสิทธิ์ ให้บริษัทโอเดียนสโตร์ หุ้นส่วน จำกัด จัดพิมพ์จำหน่าย
ส่งผลกำไรสมทบทุน "ประกวดเรียงความเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระปิยะมหาราช
ของพระวิมาดาเธอ"
ฉบับ
พิมพ์ครั้งที่สี่ (จำนวนที่พิมพ์ 1,500 ชุด)
เมื่อปี พ.ศ. 2536 พิมพ์รวม 2 เล่ม
มีสารบัญเรื่องรูป และภาพประกอบ
ทั้งยังรักษารูปแบบและอักขรวิธีตามต้นฉบับของการพิมพ์ครั้งที่สองไว้อย่างครบถ้วน พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางทองพับ พานิชพัฒน์
ฉบับ
พิมพ์ครั้งที่ห้า (จำนวนที่พิมพ์ 3,000 ชุด)
เมื่อปี พ.ศ. 2537 พิมพ์ครั้งที่ 5 พิมพ์รวม 2 เล่ม จำนวน 3,000 เล่ม
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ให้สำนักราชเลขาธิการจัดพิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสันติภาพ
หมู่มิ่ง
นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2540 โครงการยุโรปศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แปลพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน
ตอนเสด็จประพาศ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 19-34 เป็น 3 ภาษาคือ
ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส
โดยจัดพิมพ์ในเล่มเดียวกันพร้อมทั้งสำนวนภาษาไทย
อีกทั้งยัง
ไม่นับรวมที่สำนักพิมพ์เอกชนได้ขออนุญาตกรมศิลปากรในการจัดพิมพ์ อาทิเช่น
องค์การค้าของครุสภา, สำนักพิมพ์แพร่พิทยา , บริษัทอักษรเจริญทัศน์เป็นต้น
เหตุการณ์จากบทพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน
แม้ระยะเวลาจะล่วงเลยมาเป็นเวลาร่วม ๑๐๐ ปี แล้วก็ตามพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไกลบ้าน” ก็ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักอ่านและนักสะสมอยู่มาก
และทำให้เห็นพระอัจฉริยภาพในทุกแขนงของพระองค์ ตลอดจนพระราชจริยาวัตรอันงดงาม
ในพระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ข้าแผ่นดินอย่างเราประจักษแจ้งในพระเกียรติคุณไปนานแสนนาน
--------------------------------